หน่วยที่ 5

 

การสร้างแบบจำลอง (Prototype)

 

Prototype คืออะไร

 

  • ความหมายและความสำคัญของการสร้างแบบจำลอง

การสร้างแบบจำลอง (Prototype) หมายถึง การแปลงความคิดให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างง่าย ประหยัด และใช้เวลาเร็วที่สุด ให้เป็นต้นแบบไปทดสอบกับกลุ่มคนที่คิดว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับผู้ใช้งาน หรือลูกค้า การสร้างแบบจำลอง (Prototype) เพื่อเก็บข้อเสนอแนะจากผู้ใช้งานก่อนการสร้างสินค้าจริง

  • วัตถุประสงค์ของการสร้างแบบจำลอง

1. เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามต่าง ๆ 

2. ช่วยให้เข้าใจผู้ใช้อย่างแท้จริงและรอบด้าน 

3. ช่วยลดความเสี่ยง 

4. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้รู้ถึงความต้องการของผู้ใช้ให้ชัดเจนมากขึ้น

5. เพื่อใช้ในการตรวจสอบความเป็นไปได้

6. เพื่อใช้เป็นตัวแทนระบบที่ได้ออกแบบ

  • ลักษณะของแบบจำลองที่ดี

1. ความถูกต้องหรือความแม่นยำ (Fidelity) 

การสร้างแบบจำลองเป็นกระบวนการที่จะต้องทำการปรับแก้ (Iterate) ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการรวบรวมความคิดเห็นของผู้ใช้งานหรือการลงมือทำเพื่อที่จะนำบทเรียนต่าง ๆ ที่ได้รับมาปรับปรุงต้นแบบให้ดีขึ้น ซึ่งในการที่จะได้บทเรียนที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจากการลงมือทำหรือการระดมความคิดเห็นของผู้ใช้งานผ่านการทดสอบนั้น และสิ่งสำคัญ คือ ความแม่นยำของแบบจำลองที่จะสามารถสะท้อนถึงแนวความคิดที่จะสื่อออกไปได้อย่างถูกต้องที่สุด 

2. บริบทของผู้ใช้งาน (Context)

แม้ว่าการทดสอบแบบจำลองอาจไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องนำตัวผู้ใช้งานจริงมาทดสอบเสมอไป เช่น อาจเป็นการพัฒนาในห้องแล็บ เป็นต้น แต่การทำการทดสอบแบบจำลองในบริบทที่แตกต่างกันจะช่วยให้สามารถรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากบุคคลที่ 3 ในแต่ละบริบทเพื่อนำมาปรับแก้ต้นแบบได้ดียิ่งขึ้น

  • รูปแบบในการสร้างแบบจำลอง

1. การสร้างแบบจำลอง 3 มิติ (Mock Up)

ในการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ อาจเป็นการเริ่มจากการสร้างแบบจำลองที่มีความแม่นยำต่ำ โดยมีรายละเอียดไม่มากนัก ไปจนถึงแบบจำลองที่มีความแม่นยำหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด แต่อาจจะยังไม่จำเป็นต้องใช้งานได้จริง

2. การสื่อสารด้วยภาพบนกระดาษ (Paper Drawing)

การสร้างแบบจำลองผ่านการวาดภาพบนกระดาษสามารถทำได้ทั้งกับแบบจำลองที่มีความแม่นยำต่ำไปจนถึงแบบจำลองที่มีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง เช่น การวาดผังโครงสร้างของเว็บไซต์ที่สะท้อนถึงหน้าตาของเว็บไซต์

3. การแสดงละครจำลองสถานการณ์ (Role-Play)

       การแสดงละครจำลองสถานการณ์หรือแบบฝึกการแสดงบทบาทสมมติเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสวมบทบาทเป็นบุคคล หรือได้แสดงสถานการณ์ตามที่กำหนด บทบาทเหล่านี้สามารถนำมาใช้ได้ทั้งที่เป็นผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นรายบุคคล เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่ม ซึ่งสามารถเจาะจงแสดงสถานการณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น 

4. การสร้างบทภาพ (Storyboard)

       การสร้างบทภาพให้เห็นลำดับขั้นตอนตามเนื้อเรื่องที่ต้องการ โดยเฉพาะภาพเคลื่อนไหว รายละเอียดที่ควรมีในบทภาพ (Storyboard) ได้แก่ คำอธิบายแต่ละสื่อที่ใช้ (ข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง วีดิโอ)

  • ขั้นตอนการสร้างแบบจำลอง

1. สร้างต้นแบบ (Build) คือ เลือกวิธีที่จะสร้างต้นแบบอย่างง่ายขึ้นมา โดยเลือกทำจากฟังก์ชันที่สำคัญก่อน และอย่าทำหลายอย่างจนแบบจำลอง (Prototype) ซับซ้อนเกินไป ซึ่งสามารถสร้างแบบจำลอง (Prototype) ที่แตกต่างกันเพื่อทดสอบฟังก์ชันที่แตกต่างกันในแต่ละครั้งได้ โดยก่อนจะสร้างแบบจำลอง (Prototype๗ ต้องมีสมมุติฐานก่อนว่า “ถ้าเรา……. ลูกค้าจำนวน……….. จะ ……….”

2. ทดสอบกับผู้ใช้ (Test) คือ เมื่อตั้งสมมติฐานและสร้างต้นแบบเสร็จแล้ว ต้องหากลุ่มที่จะมาเป็นผู้ทดสอบต้นแบบ

3. เรียนรู้ (Learn) คือ ทำใจเป็นกลาง อย่าโต้แย้งเพื่อปกป้องแนวความคิดตัวเองจนไม่ได้เรียนรู้จากกลุ่มเป้าหมาย ควรฟังให้มาก แล้วนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ว่าได้เรียนรู้อะไรจากการทดสอบครั้งนี้บ้าง คนชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อยากได้อะไรเพิ่มเติม แบ่งข้อเสนอแนะเป็นหมวดหมู่ แล้วจัดอันดับว่าผู้ใช้พูดถึงเรื่องอะไรมากที่สุด

4. ทำซ้ำหรือปรับแก้ (Iterate) คือขั้นตอนต่อไป (Next Step) หลังจากเรียนรู้จากแบบจำลอง (Prototype) แรก ว่าจะทำอะไรต่อไป

              4.1 ทำซ้ำ คือ อะไรที่ดีอยู่แล้ว คนพอใจอยู่แล้ว ก็ควรเก็บไว้

              4.2 ทำให้ดีขึ้น คือ ส่วนใดที่คนอยากเห็นดีกว่านี้ ตอบโจทย์มากกว่านี้ แบบจำลอง (Prototype) ต่อไปควรลองเพิ่มส่วนนี้

              4.3 เปลี่ยนแปลง คือ สิ่งที่ทำไปแล้วคนไม่ชอบ ไม่ต้องการ ให้ตัดทิ้งไป

  • เครื่องมือการสร้างแบบจำลอง

1. Popapp เป็นแอปพลิเคชันที่เน้นสร้างแบบจำลอง (Prototype) โดยใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือเข้ามาช่วย หลักการคือวาดแอปพลิเคชันจะสร้างลงบนกระดาษ จากนั้นใช้แอปพลิเคชัน Popapp ถ่ายภาพที่วาดและเลือกพื้นที่ที่อยากจะให้ตอบสนอง โดยสามารถกำหนดผ่านแอปพลิเคชัน Popapp

      • ตัวอย่างสำหรับการทำโมคอัป (Mock  up) คือ ความคิด (Idea) เรื่อง Nasal Surgery Prototype ของ Ideo ซึ่งเป็นการจำลองเครื่องมือที่ใช้ทำศัลยกรรมจมูกเป็น Mockup แบบง่ายที่ทำให้เข้าใจทั้งผู้ออกแบบและทีมแพทย์

2. User Journey สามารถจำลองตลาด เพื่อดูว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบตรงไหน โดยใช้การเล่าเรื่องผ่านวิดิโอหรือ Storyboard ตัวอย่างคือสินค้า (Product) เครื่องแปลภาษา ชื่อ “Wearable Translator” เป็นฮาร์ดแวร์ที่สามารถแปลภาษาจากเสียงที่พูดเป็นอีกภาษาได้

3. Landing Page คือหน้าเว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้น โดยมีจุดประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์อะไรบางอย่าง แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หน้านี้สร้างขึ้นเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสาร หรือสร้างขึ้น เพื่อการซื้อขาย เป็นต้น

ซึ่ง Landing Page ที่พบเห็นกันโดยมากมักจะเป็นหน้าเว็บไซต์สำหรับจำหน่ายสินค้า หรือแคมเปญการตลาด ในบางครั้งจึงมีการเรียก Landing Page ว่า Sale Page ตามจุดประสงค์การใช้งานนั่นเอง

screaming season 6 GIF crawling GIF by Sixt Video gif. A man sits in front of a computer with his hand on the mouse, falling asleep and then tipping over onto the ground, taking the mouse with him.